พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

 

               https://www.facebook.com/297383427651021/posts/316470032409027/ สถาบันพระมหากษัตริย์ ศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ เป็นผู้นำในการปกครอง ปกป้องประเทศจากอริราชศัตรู ตามคติความเชื่อแบบเทวราชาที่ตกทอดมาตั้งแต่โบราณ ตามหลักศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่รับเข้ามาในราชสำนักนั้น

 

ฐานะของพระมหากษัตริย์ยกย่องให้เป็นดั่งสมมติเทพ อันหมายถึง พระพรหม พระนารายณ์ พระศิวะหรือพระอิศวร อีกทั้งสถาบันกษัตริย์มีความใกล้ชิดกับผู้คนด้วย ดั่งเห็นได้จากพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดของผู้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระราชพิธีหนึ่ง ในการเฉลิมพระเกียรติยศองค์พระประมุขในวโรกาสที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นสิริมงคล เป็นปึกแผ่นแก่บ้านเมือง

 

รูปแบบการขึ้นครองราชสมบัติตามโบราณราชประเพณีนั้น มีด้วยกัน 5 ประการ คือ

 

'อินทราภิเษก' หมายถึง พระอินทร์ นำเครื่องปัญจกกุธภัณฑ์ทั้งห้า มาถวายพร้อมด้วยพระพิชัยราชรถและฉัตรทิพย์ เสมือนพระอินทร์ทรงสถาปนาให้เป็นพระมหากษัตริย์

 

‘โภคาภิเษก’ คือ การขึ้นเป็นกษัตริย์ของผู้มีชาติตระกูลพราหมณ์ที่บริบูรณ์ด้วย โภไคยไอศุริยสมบัติ สามารถปกครองประชาราษฎร์ด้วยความผาสุก

 

‘ปราบดาภิเษก’ คือ การมีชัยชนะเหนืออริราชศัตรู สร้างความเป็นปึกแผ่นในชาติ

 

‘ราชาภิเษก’ คือ การสืบราชสันติวงศ์ตามพระราชประเพณี

 

และ ‘อุภิเษก’ คือ การขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์จากงานมงคลวิวาหะอุภิเษก โดย สมเด็จพระราชบิดา พระราชมารดา ทั้ง 2 ฝ่าย แล้วให้ขึ้นปกครองบ้านเมือง

 

พระราชพิธีราชาภิเษกของไทยนั้น มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ดังหลักฐานทางโบราณคดีแล ประวัติศาสตร์ไทย มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร อาทิ จารึกวัดศรีชุม จารึกวัดป่ามะม่วง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) คำให้การชาวกรุงเก่า วรรณคดีเรื่องโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔) เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์

 

ต่อมาข้อมูลได้สูญหายไปเป็นอันมากเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ และมีการรวบรวมตำราขึ้นมาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อถึงคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมรายละเอียดขั้นตอนของพระราชพิธีดังกล่าว เมื่อปีพ.ศ. ๒๓๒๖ เรียบเรียงเป็นตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยา เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ในปีพ.ศ. ๒๓๒๘ และยึดถือปฏิบัติเป็นแบบแผน สืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังทำให้ทราบถึงขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยอยุธยาอีกด้วย

 

ที่ผ่านมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นับตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชพิธีนี้มาแล้ว ๑๑ ครั้ง ดังนี้

 

๑. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จำนวน ๒ ครั้ง

๒. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน ๑ ครั้ง 

๓. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๑ ครั้ง 

๔. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๑ ครั้ง 

๕. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๒ ครั้ง 

๖. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๒ ครั้ง 

๗. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๑ ครั้ง 

๘. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จำนวน ๑ ครั้ง

 

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเป็นการประกอบพระราชพิธีครั้งที่ ๑๒

 

สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง เพราะในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ แต่เป็นเพียงสังเขปเท่านั้น มิได้จัดเต็มตามโบราณราชประเพณี ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะยังคงติดขัดในเรื่องการสงคราม และเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี

 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ โดยในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ดังนั้นจึงต้องแต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา และเมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา จึงทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๖

 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรตามโบราณราชประเพณี แต่งดการแห่เสด็จเลียบพระนครและการรื่นเริงต่างๆ เพราะอยู่ในช่วงของการไว้ทุกข์ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จึงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ และได้ทรงเชิญพระราชอาคันตุกะ ซึ่งได้แก่ผู้แทนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ในยุโรปเกือบทุกประเทศ ผู้แทนเหล่านี้ถ้าไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงก็จะได้แก่อัครราชทูตพิเศษ นอกจากนี้ ยังทรงเชิญผู้แทนของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และผู้แทนพระองค์ของพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นด้วย

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพียงพระองค์เดียวที่ไม่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะว่าเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะจึงต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

ช่วงระยะเวลาที่ทรงครองราชสมบัติ พระองค์เสด็จนิวัตพระนครเป็นการชั่วคราว ๒ เดือน คือในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ และในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ อีกครั้งหนึ่ง และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมานเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระองค์ได้เสด็จสวรรคตก่อนที่จะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

cr. bangkokbiznews

ขอบพระคุณข้อมูล

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ไทย

www.jssignalradio.com

https://www.facebook.com/297383427651021/posts/316470032409027/