กำเนิด “กรมการทหารสื่อสาร

การสื่อสารของกองทัพบกก่อนสมัย ร.ศ. 126 ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "เครื่องสัญญา" มีเจ้าหน้าที่ในกรมทหารช่างเป็นผู้ปฏิบัติการ หลักในการใช้เครื่องสัญญา หน่วยทหารเหล่าอื่นต้องจัดทหารขึ้นเป็นผู้ใช้เครื่องสัญญาของตนเองโดยอาศัยข้อบังคับให้ใช้เครื่องสัญญาประกอบกับสมุดโค้ดโทรเลขทหารบก และเครื่องหมายเลขสัญญาสำหรับธงคู่และธงเดี่ยวซึ่งกรมยุทธนาธิการออกข้อบังคับไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ

ตั้งแต่เสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินได้ทรงดำรงพระยศ นายพันเอก และทรงรับตำแหน่ง จเรทหารช่าง เมื่อ 21 ก.ย. 2449 เป็นต้นมา พระองค์ไม่เคยละไปจากทหารช่างเลย แม้จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งใหญ่น้อยอื่นๆ ทั้งในทางทหารช่างพลเรือนอีกมากมาย ก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้รั้งตำแหน่งจเรทหารช่างไว้ด้วยตลอดเวลาทั้งนี้ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชประสงค์ไว้ตั้งแต่ต้น ในการกำหนดให้พระองค์เจ้าชายบุรฉัตรไชยากรเข้าศึกษาในด้านโยธาธิการ และได้ทรงเล็งเห็นอย่างถ่องแท้ในความปรีชาสามารถตามวิริยะ ตั้งพระทัยแน่วแน่ในการเร่งรัดปรับปรุงเรื่องของทหารช่าง จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้รับผิดชอบอำนวยการบริหารปรับปรุงกิจการทหารช่าง ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลา 3 แผ่นดิน (รัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7)

พระอุตสาหะวิริยะและการเสียสละส่วนพระองค์ ของเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินที่ทรงมอบให้แก่กิจการทหารช่าง อันเป็นพื้นฐานปูแนวทางก่อกำเนิด "เหล่าทหารสื่อสาร" ในเวลาต่อมามีเอนกประการ อาทิเช่น ในระหว่างปี พ.ศ. 2456 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำริให้กองทัพบกไทยกวดขันในแผนกทหารช่างให้ดียิ่งขึ้นไปอีก จึงโปรดเกล้าฯ ให้นายพลโทกรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงรับตำแหน่ง “จเรทหารช่าง” แต่อย่างเดียว เพื่อบรรเทาภาระในหน้าที่อื่น มาเร่งรัดเรื่องของทหารช่างให้เร็วที่สุดนั้น เสด็จในกรมฯ ได้กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาพระองค์ยังประเทศอียิปต์และยุโรปเป็นเวลา 1 ปี ยังทรงพระอุตสาหะใช้ช่วงเวลานั้น เสด็จทอดพระเนตรการทหารช่างของยุโรป ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงในชั้นสูงอย่างรวดเร็ว โดยมิได้อนาทรต่อความเหนื่อยยากพระวรกาย

ในปี พ.ศ. 2460 โปรดให้ตั้ง โรงเรียนทหารช่าง ขึ้นในกระทรวงกลาโหม ให้คัดเลือกนายทหารช่างจากกรมกองต่างๆ ไปเข้าเรียน กำหนดวิชาที่สอนในโรงเรียนทหารช่างในตอนนั้น ให้มีทั้งวิชาการชลประทาน, การรถไฟ, การก่อสร้าง, ป้อมค่ายสนาม, การสะพานต่างๆ, เครื่องกีดขวาง, วัตถุระเบิด, การไฟฟ้าทั้งทฤษฏีและปฏิบัติ, การไปรษณีย์, การสัญญาณ มีเครื่องมือสื่อสารต่างๆ และเครื่องนำสารชนิดต่างๆ แสดงว่าในสมัยนั้น ได้ฝึกสอนให้ทหารช่างทำหน้าที่อย่างทหารช่างกับทหารสื่อสารในปัจจุบันรวมกัน ซึ่งเป็นการวางแนวทางการศึกษาไว้เป็นอย่างดีแล้ว ในการที่จะแยกออกมาเป็น "เหล่าทหารสื่อสาร"

ในปี พ.ศ. 2363 เสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน จเรการช่างทหารบก ท่านได้มอบเครื่องมือสื่อสารไฟฟ้าแบบทันสมัย ซึ่งนักประดิษฐ์คิดสร้างสำเร็จ ที่ซื้อมาจากบริษัท มาร์โคนี่ ประเทศอังกฤษ ให้ทหารทดลองเพื่อฝึกใช้ราชการ เป็นเครื่องที่รับส่งกันเป็นคำพูดและโทรเลขในหีบเดียวกัน ท่านจเรฯท่านได้ส่งมาเรื่อยๆ และเป็นแบบต่างๆกัน *(พ.อ.เทศ กิตติรัต, "อาลัยรักรำลึกถึงเพื่อน" อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์บริษัท เอดิสัน เพรสโพรดักส์ จำกัด,๒๕๒๖" หน้า ๔๑.) การทำงานของเราต่อมารู้สึกว่าสนุก และหนักมือหน่อย เนื่องจากเสด็จในกรมฯ ท่านส่งเครื่องวิทยุแปลกๆ มาให้ทดลองกัน โดยส่วนมากจะทดลองกันที่วังเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ไปที่กรมทหารช่าง บางซื่อ และที่ในกระทรวงกลาโหม

กาลเวลาล่วงมาจนถึงวันที่ 27 พ.ศ. 2467 จึงได้มีคำสั่ง ตั้งทหารสื่อสารขึ้น เรียกว่า “ชนิดทหารสื่อสาร” มีสีเม็ดมะปรางเป็นสัญลักษณ์ โดยจัดให้มี กองโรงเรียนทหารสื่อสาร ขึ้นในกรมจเรการช่างทหารบก ตั้งหน่วยอยู่ที่ เลขที่ 149 ถนนพระราม5 ตำบลถนนนครไชยศรี (สะพานแดง บางซื่อ) อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร กำหนดหน้าที่ของแผนกที่ 2 กรมจเรการช่างทหารบก ให้มีหน้าที่การสื่อสารและการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสื่อสาร จึงนับว่า ได้แยกงานการสื่อสารออกจากทหารช่าง ก่อกำเนิดเป็น "ทหารสื่อสาร" ขึ้นอีกเหล่าหนึ่ง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แต่ก็ยังคงอยู่ในกรมจเรการช่างทหารบก

จนปลายปี พ.ศ. 2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการเปลี่ยนแปลงกิจการทหารครั้งใหญ่ ทหารช่างและทหารสื่อสารได้แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด มีแผนกที่ 5 กรมจเรทหารบก เรียกชื่อย่อว่า จร.5  มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการทหารสื่อสาร ตั้งสำนักงานอยู่ในกระทรวงกลาโหม จนในปี พ.ศ.2477 ได้ย้ายแผนกที่ 5 กรมจเรทหารบก มาตั้งอยู่ที่บริเวณสะพานแดง บางซื่อ

ในปี พ.ศ.2484 ได้ยุบจเรทหารบก เปลี่ยนแผนกที่ 5 กรมจเรทหารบก เป็น “แผนกทหารสื่อสาร” กรมเสนาธิการทหารบก ภายหลังจากที่สงครามมหาเอเชียบูรพาสงบลง ในปี พ.ศ.2489 ทางราชการได้เปลี่ยน แผนกทหารสื่อสาร กรมเสนาธิการทหารบก เป็น “กรมจเรทหารสื่อสาร”

กระทั้งปี พ.ศ.2491 พล..ผิน ชุณหะวัน ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้กรมจเรทหารสื่อสาร จัดตั้ง “สถานีวิทยุกระจายเสียงทดลอง” ขึ้น เป็นสถานีแรกในกองทัพบก ใช้เครื่องส่งขนาด 250 วัตต์ ความถี่ 650 กิโลเฮิรตซ์ ความยาวคลื่น 461.5 เมตร ความมุ่งหมายเพื่อแถลงข่าวของกองทัพบก และอบรมศีลธรรมแก่ทหาร ใช้ชื่อว่า จส.1” หรือภาษาสากลว่า “HS 1 JS อยู่ในแผนกโฆษณากองดักข่าวและโฆษณา กรมจเรทหารสื่อสาร และเปิด “สถานีวิทยุกระจายเสียง” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2492 และในปีต่อมาได้ปรับปรุงพัฒนาเครื่องส่งจาก 250 วัตต์เป็นขนาด 1  กิโลวัตต์ 

จนกระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม 2495 ทางราชการได้ปรับปรุงอัตราใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อ “กรมจเรสื่อสาร” เป็น “กรมการทหารสื่อสาร” (ใช้ชื่อย่อว่า “สส.”) ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (พิเศษ)  ที่ 45/18427 ลงวันที่  12  กันยายน  ..2495 โดยมี พล.ต.หลวงกำจัดปัจจามิตร (เจือ สิงหเสนีย์) เป็นเจ้ากรมการทหารสื่อสารคนแรก

ในปี พ.ศ.2498 กองการวิทยุประจำถิ่นได้ประกอบเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ขนาด 100 วัตต์ขึ้น เปิดทำการกระจายเสียงถ่ายทอดการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9 เรียกนามสถานีว่า วสส. มีภารกิจดำเนินการสื่อสารยามปกติในส่วนภูมิภาค ต่อมากระทรวงศึกษาธิการตั้งสถานีวิทยุศึกษาใช้ชื่อ วอ.สอ.สอ. เหมือนกัน จึงเปลี่ยนมาเป็น “วปถ.”

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2505 กรมการทหารสื่อสาร ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อควบคุมกิจการวิทยุกระจายเสียงของหน่วยต่างๆ ในสังกัดกรมการทหารสื่อสารเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ใช้ชื่อว่า “กองอำนวยการกิจการวิทยุกระจายเสียง” กรมการทหารสื่อสาร (กวส.สส.)  โดยมีภารกิจทำการควบคุม กำกับดูแล วางนโยบาย และพัฒนาการกระจายเสียงให้ดำเนินการเป็นแนวทางเดียวกัน และในปี พ.ศ.2527 ทางราชการได้เปลี่ยนจาก กองการวิทยุประจำถิ่น เป็น “กองการสื่อสาร” กรมการทหารสื่อสาร (กสส.สส.)