โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

"...ให้ดำเนินการศึกษาวิธีการปรับปรุงบำรุงดินที่เสื่อมโทรม ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้ โดยทำการทดสอบ วางแผนและจัดระบบปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยดำเนินการในลักษณะเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาขนาดย่อม..."

    พระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2529

 

    โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีเริ่มต้นจากการที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการน้อมเกล้าถวายที่ดินจำนวนประมาณ 700 ไร่ จากราษฎรซึ่งเป็นอดีตนายตำรวจยศสัญญาบัตร ซึ่งแต่เดิมทำเป็นฟาร์มปศุสัตว์และปลูกพืชไร่ มีการใช้ที่ดินอย่างผิดวิธีทำให้หน้าดินเสียหาย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เกิดสภาพความแห้งแล้งโดยทั่วไปจนไม่สามารถปลูกพืชได้ หรือผลผลิตลดลง เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริในการปรับปรุงที่ดินเสื่อมโทรมแห่งนี้ให้กลับมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ในการเพาะปลูกได้ รวมทั้งทรงยังแนะนำให้ปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ หลังจากที่พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริในการปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2529 หน่วยงานต่างๆ ได้สนองพระราชดำริด้วยการศึกษาทดลองเพื่อหาวิธีการปรับปรุงดินในพื้นที่ให้กลับนำมาใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้อีก และเป็นแนวทางในการปรับปรุงดินให้แก่ราษฎรที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ตลอดจนเป็นรูปแบบสำหรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีปัญหาคล้ายๆ กับที่ดินแห่งนี้ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการ ได้เรียนรู้วิธีการจัดการดิน น้ำ และพืชอย่างถูกต้อง มีความยั่งยืน ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังถือเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตพื้นที่โครงการให้เพียงพอกับการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ ให้คงความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนใช้เป็นแหล่งศึกษาดูงานสำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่สนใจ

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและสาธิตทดสอบวิธีการฟื้นฟูปรับปรุงดินเสื่อมโทรมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อเป็นรูปแบบและส่งเสริมอาชีพเกษตรกรที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการ  ได้เรียนรู้วิธีการจัดการดิน  น้ำ  และพืช  อย่างถูกต้อง  มีความยั่งยืนไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

2. เพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตพื้นที่โครงการให้เพียงพอกับการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร

3. เพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำรอบพื้นที่โครงการฯให้เพียงพอกับการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรสำหรับกิจกรรมการขยายผลของโครงการฯ

4. เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน  น้ำ  และป่าไม้  ให้คงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติอย่างยั่งยืน

5. เป็นแหล่งศึกษาดูงาน

 

    ทั้งนี้โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ ให้ฟื้นฟูสภาพป่า ดำเนินการพัฒนา และปล่อยไว้ในสภาพเดิม (ให้ธรรมชาติฟื้นตัวเอง) โดยใช้แนวทางการฟื้นฟูให้พัฒนาแหล่งน้ำ ปลูกไม้ยืนต้นให้มีความชุ่มชื่น สวยงาม ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีแนวทางการดำเนินงานในหลายรูปแบบ ทั้งการศึกษา ทดลอง วิจัย หลายประการ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม และระบบนิเวศน์ งานศึกษา ทดสอบและพัฒนาพืชเศรษฐกิจและระบบการปลูกพืช โครงการแปลงสาธิต และปรับปรุงไม้ผล งานด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ (สาธิตการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปลูกหญ้าแฝก) งานด้านการสาธิตทดสอบ และถ่ายเทคโนโลยี (การจัดทำแปลงสาธิต “ทฤษฎีใหม่” ในพื้นที่อับฝน ตามแนวพระราชดำริ การทดสอบการปลูกสบู่ดำเป็นพืชพลังงานทดแทน เป็นต้น) นอกจากนี้ยังมีงานด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีทั้งงานด้านสำรวจ พัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้อีกด้วยและเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2534 พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้จังหวัดราชบุรีดำเนินการปลูกหญ้าแฝกในโครงการฯ เพื่อป้องกันดินพังและการชะล้างของหน้าดิน โดยให้ปลูกขวางทางเดินของน้ำ ปลูกในที่ชันเป็นแนวขวาง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักวิชาการและวันที่ 8 มิถุนายน 2535 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมโครงการฯอีกครั้งโดยในครั้งนี้ทรงได้พระราชทานพระราชดำริ ในการคัดเลือกสายพันธุ์หญ้าแฝกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ควรระมัดระวังอย่างมาก ควรเลือกพันธุ์ที่ไม่สามารถกระจายพันธุ์ได้โดยเมล็ดเพราะถ้าเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายโดยทางเมล็ดแล้วจะเป็นอันตราย  และการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เก็บกักน้ำของอ่างน้ำ ควรปลูกตามแนวระดับโดยวนรอบอ่างเก็บน้ำ จำนวน  3 แนว คือ

แนวที่ 1 ปลูกตามแนวระดับสูงเท่ากับระดับเก็บกักน้ำ

แนวที่ 2 ปลูกตามแนวสูงกว่าระดับเก็บกักน้ำ 20 ซม.

แนวที่ 3 ปลูกตามแนวต่ำกว่าระดับเก็บกักน้ำ 20 ซม. (เพราะน้ำมักจะไม่ถึงระดับเก็บกัก)

  

นอกจากนี้ภายในพื้นที่โครงการฯ ยังมีกิจกรรมการดำเนินงานอีกหลายประการ ได้แก่

1.  ศึกษาทดสอบหาความเจริญเติบโตและการเพิ่มผลผลิตของมะขาม จำนวน 6 ไร่

2. ศึกษาทดสอบแปลงระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน จำนวน 16 ไร่

3. ศึกษาทดสอบวิธีฟื้นฟูดินเพื่อการเกษตร จำนวน 11 ไร่

4. วนเกษตร จำนวน 1.5 ไร่

5. ศึกษาวิธีการทำปุ๋ยหมักเพื่อฟื้นฟูดินเสื่อมโทรม จำนวน 5 ตัน

6. โครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ด จำนวน 3,000 ถุง/ปี

7. ศึกษาทดสอบการปลูกข้าวไร่และพืชไร่ จำนวน 5 ไร่


  

อ้างอิง :