16 ธันวา...วันกีฬาแห่งชาติไทย

          หากย้อนกลับไปเมื่อครั้ง พ.ศ.2510 ในวันที่ 16 ธันวาคม  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงเป็นตัวแทนของนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (หรือ กีฬาซีเกมส์ SEA Games ในปัจจุบัน) ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 6-19 ธันวาคม 2510 ซึ่งประเทศไทยของเราได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองเป็นครั้งที่ 2 (ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2502 ณ กรุงเทพมหานคร เช่นกัน) โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงลงแข่งขันและชนะเลิศได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาเรือใบ ประเภท โอ.เค. และพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งประทับยืนบนแท่นรางวัลร่วมกับนักกีฬาที่ชนะในอันดับที่ 2 และที่ 3 ในพิธีปิดการแข่งขัน ณ สนามศุภชลาศัย

 

 

 

           โดยกีฬาเรือใบ เป็นกีฬาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ เนื่องจากพระองค์โปรดงานช่างแต่เดิมอยู่แล้ว และทรงต่อเรือใบขึ้นด้วยพระองค์เอง และทรงทดลองแล่นเรือในสระน้ำภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งเรือใบที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ก็เป็นเรือใบที่ทรงต่อเอง พระองค์ทรงลงแข่งขันร่วมกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทยคนหนึ่ง ทรงซ้อมและเก็บตัวเหมือนเช่นนักกีฬาทั่วไป

 

            นอกเหนือจากกีฬาเรือใบแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดกีฬาอีกหลากหลายประเภท เมื่อทรงพระเยาว์ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเน้นการออกกำลังกายอย่างสกีและฮ็อกกี้น้ำแข็งในช่วงฤดูหนาว อีกกีฬาที่ทรงสนพระทัยและทรงถนัดก็คือ เทนนิส เมื่อครั้งเสด็จฯไปเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ในปี 2503 ได้ทรงลงเล่นกีฬาเทนนิสกับ นายพล.อ.เน วิน นายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพเมียนมาร์ในขณะนั้น อีกหนึ่งกีฬาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดปรานได้แก่ แบดมินตัน พระองค์ทรงโปรดฯให้มีการปรับแต่งหอประชุมพระตำหนักจิตรลดาฯเป็นสนามแบดมินตันมาตรฐานเพื่อทรงแบดมินตัน ซึ่งในสมัยก่อนกีฬาแบดมินตันยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทย ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงเล็งเห็นว่ากีฬานี้เป็นกีฬาที่คนไทยจะสามารถไตเต้าไปสู่ระดับโลกได้ และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ให้ก่อตั้งสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยขึ้นอีกด้วย 

 

 

          พระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทางการกีฬานี้เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก ว่าพระองค์ทรงเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริง และทรงสนับสนุนกีฬาจนเป็นที่ปรากฏอย่างเด่นชัด ดังนั้นในการประชุมใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ครั้งที่ 29 ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยมีนายฮวน อันโตนีโอ ซามาร้านซ์ ประธานคณะโอลิมปิกสากล เป็นประธานการประชุม พร้อมทั้งสมาชิกเข้าร่วมประชุมอีก 87 ประเทศ ได้มีมติเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิกสากล คือ "อิสริยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด" (ทอง) แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญโอลิมปิกชั้นสูง

 

 

          เพื่อเป็นการระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเป็นนักกีฬาตัวแทนของชาติไทยในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 และเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนชาวไทยเห็นคุณค่าความสำคัญของการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทยจึงได้มีมตินำเสนอคณะรัฐมนตรีลงความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2529 กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปีเป็น "วันกีฬาแห่งชาติ"

          พระอัจฉริยภาพด้านกีฬาของพระองค์ที่ทรงทุ่มเท ศึกษา ฝึกฝน เรียนรู้ แก้ไข สมควรที่ประชาชนควรนำมาเป็นแบบอย่าง ไม่เพียงแต่ทางด้านการกีฬาเท่านั้น ในด้านการดำเนินชีวิตก็สามารถยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้เช่นกัน



เรียบเรียงโดย จส.กจสท.สส.

ขอบคุณข้อมูลจาก today.line.me./th , club.sanook.com 

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก google